ทะเลบัวแดง เสน่ห์แดนอีสาน
ทะเลบัวแดง เสน่ห์แดนอีสาน
แหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตและตำนานพื้นบ้าน ฟ้าเริ่มแจ้ง เพราะแสงเริ่มส่อง พร้อมความเคลื่อนไหวของผู้คน เรือถูกทะยอยออกไปอบอุ่นเครื่องยนต์ หลังนอนพักทั้งคนทั้งเครื่องมาทั้งคืน ฝ่ายรับจอง จัดคิวเรือก็เริ่มทำหน้าที่ ลูกเล็กเด็กน้อยก็พลอยมีรายได้พิเศษ จากงานที่ผู้ใหญ่เห็นว่าเหมาะสมกับเพศและวัย เรือที่ให้บริการมีทั้งเรือใหญ่นั่งได้นับสิบ มีหลังคาบังแดดอย่างดี หากมากันน้อยก็มีเรือขนาดเล็กนั่งได้ 2-3 คน ซึ่งแคล่วคล่องว่องไวกว่าเรือใหญ่เป็นอีกทางเลือก สองสามปีที่ผ่านมา ช่วงเดือนธันวาคมถึงปลายกุมภาพันธ์ต่อถึงต้นมีนาคม วิถีชีวิตของคนบ้านเดียม ริมหนองหาน ถิ่นอีสานอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี อาจจะเปลี่ยนไปกว่าที่เคยดำเนินมา หลังจาก “ทะเลบัวแดง” ต้นทุนทางธรรมชาติซึ่งผลิบานในท้องถิ่น เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วจากเหนือ อีสาน กลางจรดใต้ พวกเรามาถึงริมหนองหานตั้งแต่แสงยังไม่ปริ่มมาที่ริมขอบฟ้า ไก่ไชโยโห่รับวันใหม่อยู่เป็นระยะ กลิ่นน้ำกลิ่นตมผสมกลิ่นดินกลิ่นหญ้าแซมขี้วัวสดและแห้ง ปนผสานมาในสายลม รู้สึกได้ทุกครั้งที่หายใจ บรรยากาศชนบทมาครบทั้งรูป เสียง กลิ่น รส อันท้ายหมายถึงรสความรู้สึกที่สัมผัสได้จากธรรมชาติรอบตัว ไม่ใช่รสชาติของสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดกลิ่นแต่ประการใด ดอกบัวจะบานตั้งแต่พระเริ่มออกบิณฑบาตกระทั่งเพล แต่ช่วงเช้าจะสดชื่นเบ่งบานงดงามเป็นที่สุด ใครอยากเห็นแสงแรกของเช้าวันใหม่ ก็ต้องมาก่อนสว่าง ล่องไปตั้งแต่ต้นจนจบกลับมาแดดยังไม่ทันร้อน คือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องพากันมาแต่เช้าปานนี้ พระอาทิตย์สีส้มกลมอ้วม ลอยเด่นดวงตัดกับสีของทะเลบัวแดง นกหลายสายพันธุ์เริ่มออกทำภารกิจเช่นทุกวัน มีทั้งบินเดี่ยว บินคู่และหมู่คณะ ควายฝูงเล็ก ๆ ลงแช่หนองหานในเขตแดนที่ชุมชนร่วมกันกำหนดไว้ ชาวบ้านย่านนี้ก็ออกหาปลาเช่นเดียวกัน เรือสองลำใช้ไม้ตีน้ำสร้างคลื่นเสียงอึกทึก เมื่อปลาตกใจก็จะแหวกว่ายหนีไปในทิศตรงข้าม ชนข่ายอวนหลุมพรางที่ขึงขวางไว้ หนองหานจึงเป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งพืชพันธุ์คนสัตว์ ต่างใช้ประโยชน์ พึ่งพาอาศัยกันและกันในพื้นที่ชุมน้ำแห่งนี้ กิจกรรมทำมาหากิน เก็บผักจับปลาปูกุ้งหอย ต้อนควาย คนย่านนี้เค้าเรียก “ลงหนอง” ก่อนลงหนองมักไม่ลืมที่จะบอกกล่าวขออนุญาต “พ่อพญาขอม” ผู้เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับนาค ตามตำนานนิทานพื้นบ้าน “ผาแดง-นางไอ่” พญาขอมผู้ปกครองนครเอกชะทีตา มีพระราชธิดานามว่า “ไอ่คำ” ด้วยมีรูปโฉมเป็นทรัพย์ จึงเป็นที่หมายปองของชายหนุ่มจากทั่วสารทิศ ซึ่งต่างต้องการได้นางเป็นคู่เคียงเรียงหมอน หนึ่งในนั้นคือ “ท้าวผาแดง” กษัตริย์หนุ่มรูปงามผู้ปกครองผาโพงนคร แห่งเมืองลาว ซึ่งควบ “บักสาม” ม้าคู่ใจมาไกลถึงเอกชะทีตานครเพียงเพื่อยลโฉมนาง แต่กุศลผลบุญที่เคยร่วมกันมาในชาติก่อน ทำให้พบรักและมอบคำมั่นสัญญาว่าจะแต่งงานกัน ในโอกาสพิธีบุญเดือนหก จุดบั้งไฟขอฝนบนฟ้าจากพระยาแถนให้ตกต้องตามฤดูกาล พญาขอมจึงถือโอกาสนี้จัดประชันขันแข่ง หากบั้งไฟใครขึ้นสูงสุดก็จะยกพระราชธิดาให้เป็นคู่ครอง ข่าวนี้รู้ไปถึงแดนพญานาค ท้าวพังคีโอรสท้าวศรีสุทโธเจ้าเมืองบาดาล จึงแปลงกลายเป็น กระรอกด่อน(กระรอกเผือก) มาสังเกตุการณ์และยลโฉมพระราชธิดาไอ่คำ เมื่อนางเห็นกระรอกเผือกที่สวยงาม ก็เกิดอยากได้มาเลี้ยง แต่ก็ไม่มีผู้ใดจับได้ อำมาตย์ราชเสนาจึงตามนายพรานชื่อ “กง” ซึ่งเชี่ยวชาญการจับสัตว์มารับหน้าที่ติดตามกระรอกเผือก แต่ท้ายที่สุดท้าวพังคีในร่างกระรอกเผือก ก็ถูกหน้าไม้จนบาดเจ็บและสิ้นใจ นายพรานจึงชำแหละเนื้อกระรอกมาแบ่งกันกิน แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่หมดจึงแจกจ่ายไปทั่วทั้งเมือง ซึ่งเป็นผลจากคำอธิษฐานก่อนสิ้นใจของท้าวพังคีว่า ขอให้เนื้อกระรอกพอกินแก่คนทั้งเมือง ใครที่กินเนื้อของตนขอให้ตายจนหมดสิ้น และสาบแช่งให้เอกชะทีตานครวิบัตดับสูญ ศรีสุทโนนาคราช ผู้บิดาโกรธแค้นเป็นอย่างยิ่ง จึงพากองทัพนาคสำแดงอิทธิฤทธิ์เข้าถล่ม จนเอกชะทีตานครจมหายกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งว่ากันว่าก็คือหนองหาน ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน คือเรื่องราวย่นย่อของนิทานพื้นบ้านผาแดง-นางไอ่ ซึ่งเรื่องฉบับเต็มมีการกล่าวถึงบ้านเมืองต่าง ๆ ที่อยู่รอบเอกชะทีตานครเอาไว้ บริเวณบ้านเดียมที่เรามาลงเรือ ตามตำนานว่าคือเมืองสะพังดินดำ เมืองในปกครองของพญาฟ้าเลื่อมหรือเจ้าแสนธรรมมา คำว่าเลื่อมหรือเหลื่อม ตามสำเนียงอีสาน มีความหมายตรงกับคำว่า “เดียม” อันกล่าวถึงลักษณะฟ้าแลบส่งแสงระยับไปทั่วท้องฟ้า บ้านเดียมจึงมีที่มาจากชื่อของพญาฟ้าเลื่อมนั่นเอง ว่ากันว่าภาพถ่ายสามารถบรรยายสถานที่ได้ แต่สำหรับทะเลบัวแดงผมเชื่อว่าภาพถ่ายบรรยายได้เพียงส่วนน้อย เพราะระหว่างที่เรือแล่นไปตามเส้นทางที่กำหนด สองฟากทางล้วนเต็มไปด้วยดอกบัวแดงหรือบัวสาย ชื่อฝรั่งว่า Water lily หรือ Tropical water lily เพราะมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนอย่างเดียว หลายคนอาจสับสน ขออธิบายง่าย ๆ ว่าในทางพฤกษศาสตร์ บัวมี 2 ประเภทคือ บัวหลวง(Lotus) และ บัวสาย(Water lily) บัวหลวงหรือปทุมชาติ ใบและดอกจะชูสูงพ้นผิวน้ำ นิยมนำไปบูชาพระและใช้ในพิธีทางศาสนา ส่วนบัวสายหรืออุบลชาติ มีทั้งชนิดบานกลางคืนและกลางวัน ก้านใบและก้านดอกจะอ่อนกว่าบัวหลวง ดอกเมื่อบานจะชูพ้นน้ำส่วนใบจะลอยเรี่ยผิวน้ำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับและเอาส่วนต่าง ๆ มาทำอาหารเช่น สายบัว เรื่องของทะเลบัวแดงถือเป็นความมหัศจรรย์ของระบบนิเวศในหนองหาน เหง้าบัวจะลอยขึ้นมาเมื่อบัวหมดอายุราวเดือน เม.ย.- พ.ค. แมลงต่าง ๆ ก็จะมาอาศัยและวางไข่ นกก็มาจิกกินอีกต่อ ปากอันแหลมคมก็จะจิกจนเหง้าบัวกระจุย เมล็ดบัวที่อยู่ด้านในก็กระจายลงน้ำ จุดหักเหของท้องเรื่องอยู่ตรงนี้ เพราะหากมีสาหร่ายหรือพืชน้ำขวางทาง เมล็ดบัวก็จะหล่นไปไม่ถึงพื้นดินด้านล่างเพื่อฝังตัวเติบโตในฤดูกาลถัดไป เศษวัสดุผุเปื่อยในหนองหานซึ่งถูกประสานด้วยรากของหญ้าและพืชน้ำจนเกาะกันเป็นแพ ที่เรียกว่า “กอสนม” หรือบางที่อาจเรียก “ขี้สนม” “หญ้าสนม” หรือ “สนม” เพียว ๆ กอสนมเหล่านี้จะเคลื่อนตัวเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ระหว่างที่กอสนมเคลื่อนที่ จึงเปรียบเสมือนการกวาดทำความสะอาดขุดลอกหนองหาน เป็นกระบวนการที่ธรรมชาติจัดสรรขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์ เมล็ดบัวซึ่งติดขัดระหว่างทางก็จะถูกสลัดให้หล่นลงพื้นด้านล่าง เพื่อขยายพันธุ์เติบโตเป็นบัวแดงที่สวยงามในฤดูกาลถัดไป ส่วนกอสนมจะถูกพัดพาไปอยู่ริมขอบหนองหาน กลายเป็นธาตุอาหารชั้นดีต่อผืนดินรอบหนองหานอีกทอดหนึ่ง “การกระโดดโลดเต้นบนกองฟางที่นับว่าสุดหฤหรรษ์แล้ว สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แห่งใหม่บนชายขอบหนองหานกลับอลังการยิ่งกว่า เพราะมีลานกว้างที่นุ่มนิ่มเหมือนปูด้วยพรมสีเขียวสด เป็นสีเขียวขจีของต้นผักต้นหญ้า แถมยังมีป่าอ้อให้ใช้เป็นที่หลบซ่อนศัตรู เมื่อล้มกลิ้งเพราะถูกปืนก็ไม่เจ็บตัว ไม่มีการหัวร้างข้างแตก เพราะพื้นเป็นก้อนที่ได้จากการซ้อนทับกันของผักและหญ้าหนาเป็นวา แถมยังมีช่องว่างระหว่างก้อนต่อก้อนให้กระโดดข้ามไป-มาได้ ก้อนที่เล็กหน่อยเมื่อกระโดดลงหลายคนก็จะหยุ่นและเอียงวูบวาบ เพิ่มความตื่นเต้นได้ไม่น้อย บางก้อนก็ใหญ่เหมือนเกาะในหนังสือแผนที่ เกาะหรือก้อนแห่งความหรรษานี้ เขาเรียกมันว่า ...ขี้สนม” แวง พลังวรรณ บรรยายเรื่องสนมไว้ใน ขี้สนม เครื่องวัดระดับสติปัญญา ได้อย่างเห็นภาพ ลองคลิกเข้าไปอ่านดู แล้วคุณจะรู้จักขี้สนม ก้อนสนมและความเกี่ยวข้องกับหนองหารได้อย่างถ่องแท้ สุภาษิตที่ว่าใกล้เกลือกินด่าง เห็นจะถูกต้องกับเรื่องทะเลบัวแดง ซึ่งอยู่คู่หนองหานมาช้านาน จนเมื่อนายรักเกียรติ ศรีลาวงศ์ มาทำหน้าที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเดียม และได้มีโอกาสไปเที่ยวทะเลบัวที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ทำให้คิดได้ว่าของดีและยิ่งใหญ่กว่าอยู่ใกล้ตัวแท้ ๆ จึงกลับมาพูดคุยกับผู้นำและสมาชิกในชุมชน โครงการเที่ยวชมทะเลบัวแดงจึงเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 กระทั่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในภาครัฐ ยกขึ้นเป็นงานระดับจังหวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การท่องเทียวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี ได้จัดงาน “วิวาห์ล้านบัว” ซึ่งได้รับความสนใจจากคู่รักทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมพิธีหลายคู่ หนองหานมีพื้นที่ประมาณ 22,500 ไร่ อยู่ในพื้นที่ อ.กุมภวาปี เป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลืออยู่ในเขต อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.กู่แก้ว ทะเลบัวแดงจะสลับกันออกดอก ตรงโน้นเหี่ยวเฉาตรงนี้ขึ้นมาเติม กินพื้นทีกว่าหมื่นไร่หรือเกือบครึ่งหนึ่งของหนองหาน จึงถือเป็นทุ่งดอกไม้ตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ เรือกว่า 60 ลำ ที่มีให้บริการ บ่งบอกถึงความนิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งต่างต้องการมาชมความงามของทะเลบัวแดงได้เป็นอย่างดี จากแรกเริ่มที่ชาวบ้านทำกันเอง กระทั่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งด้านการประชาสัมพันธ์และพาหนะในการนำเที่ยว ทะเลบัวแดงพลอยทำให้ถิ่นฐานย่านนี้คึกคักตามไปด้วย พระธาตุเทพจินดาบ้านเดียมหรือพระธาตุบ้านเดียม พระธาตุเก่าแก่ซึ่งมีพระพุทธรูปอายุกว่า 1,400 ปี ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็มีผู้คนไปกราบสักการะและรู้จักกันมากขึ้น พ่อค้าแม่ขายออกมาขายของกินของฝากสร้างรายได้กันไม่น้อย พวกเรานอกจากจะติดใจกับความงดงามของทะเลบัวและบรรยากาศที่นี่แล้ว ยังติดรส “ส้มตำปูปลาร้าสายบัว” ที่แซปนัวถึงอารมณ์กลิ่นอีสานริมหนองหานจริง ๆ ดอกบัวจะบานตั้งแต่ระหว่างเดือนธันวาคม – กุมภาพันธ์ ช่วงเวลาที่บานคือ 6.00 – 11.00 น. แต่นักท่องเที่ยวสามารถชมธรรมชาติและฝูงนกนานาพันธุ์ที่หนองหานได้ตลอดวัน หรือใครต้องการพักค้างคืนก็มีโฮมสเตย์ไว้บริการ รุ่งเช้าค่อยลงเรือล่องชมพระอาทิตย์ขึ้น สัมผัสทะเลบัวแดงนับหมื่นไร่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณไพรสิทธิ์ สุขรมย์ โทร.08 9395 0871, 08 3349 5673 เว็บไซต์ www.bandiumbuadang.com