อพท.ยกระดับ 5 จังหวัดอีสานใต้เข้าเกณฑ์ GSTC
อพท. ผนึกภาคีเครือข่าย 5 จังหวัดอีสานใต้ ลุยพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประเดิมสร้างการรับรู้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC ผ่านเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ ระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ใช้เกณฑ์ 4 มิติ วางระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว หวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เตรียมใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC เป็นกรอบในการพัฒนาให้แก่ 5 จังหวัดอารยธรรมอีสานใต้ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ให้เกิดความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว เบื้องต้นได้เชิญภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็น และร่วมกันวางแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ ให้มีศักยภาพตามเกณฑ์ GSTC โดยจะกำหนดเป็นแผนงานและวางระบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวให้กับภาคอีสานตอนล่าง ปูพื้นฐานภาคีเข้าใจหลักเกณฑ์ GSTC ทั้งนี้ GSTC ถือเป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำพื้นที่และชุมชนก้าวสู่ความยั่งยืนประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านการบริหารจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งรวมถึงความปลอดภัยด้วย มิติด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวต้องไม่ใช่แค่สร้างรายได้ และต้องสร้างสังคมด้วย เช่น ความสามัคคี มิติด้านวัฒนธรรม เพราะความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมของดินแดนอีสานใต้ที่มีอยู่จำนวนมาก ควรได้รับการเผยแพร่ให้เห็นความสำคัญและสืบสานต่อไป และมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ “อพท. ได้จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวด้วยเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) ให้ทุกภาคส่วนเข้าใจตรงกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ และในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในจัดการแหล่งท่องเที่ยว ให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งการอบรมในกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยให้ภาคีได้เข้าใจถึงกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีแนวทางดำเนินการตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)” ดร.ชูวิทย์กล่าว อย่างไรก็ตาม รูปแบบการดำเนินงานของ อพท. ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งมีเป้าหมายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561–2580) โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศการท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ต้องมีการพัฒนาปัจจัยส่งเสริมให้เอื้อต่อการยกระดับการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และเกณฑ์ GSTC นี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยพิจารณาจากดัชนี Travel & Tourism Competitiveness Index (TTCI) จับชุมชนต้นแบบใส่โปรแกรมทัวร์อีสานใต้
นายพลากร บุปผาธนากร ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท.2) อารยธรรมอีสานใต้ กล่าวว่า อีสานใต้มีความโดดเด่นในด้านของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และพร้อมที่จะเปิดรับเรื่องท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ซึ่ง อพท.2 ได้เข้าไปพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวด้วยการนำเรื่องวัฒนธรรม อัตลักษณ์พื้นถิ่น นำมาสร้างเป็นเส้นทางกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ โดยมิติด้านวัฒนธรรมเป็นเกณฑ์ด้านหนึ่งของ GSTC ที่เน้นการสร้างผลประโยชน์ รักษาวัฒนธรรม ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชนในระยะยาว ช่วยสร้างและกระจายรายได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักตามแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) สำหรับปัจจุบัน อพท. 2 ได้เข้าไปพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้แก่อีสานใต้แล้ว 15 ชุมชน และกำหนดเป้าหมายจะนำชุมชนที่มีศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเข้าสู่เส้นทางหรือโปรแกรมท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้อย่างแท้จริง เอกชนย้ำขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง นางสาวธัญวลัย ทัศนสรวิจารณ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกมาพัฒนาในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ หรือพื้นที่อื่นๆในเขตอารยธรรมอีสานใต้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นและจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการให้บริการที่นำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรมต่อไป