นโยบาย การจัดการประชุมองค์กรวิชาชีพภายในประเทศ

 หลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมวิชาการภายในประเทศ

(Domestic Conventions)
 
1. การสนับสนุน
ช่วงเวลาการขอรับการสนับสนุน : เดือนตุลาคม 2564 ถึง เดือนกันยายน 2566
2. คุณสมบัติผู้ขอรับการสนับสนุน
หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในประเทศไทยที่มีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุนตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ว่าด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
2.1 หน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เช่น กระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เป็นต้น และให้รวมถึงหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ หรือกฎหมายอันมีลักษณะพิเศษรับรองความเป็นนิติบุคคลของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ
2.2 หน่วยงานของเอกชนที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท สมาคม มูลนิธิ เป็นต้น และให้รวมถึงหน่วยงานของเอกชนที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ หรือกฎหมายอันมีลักษณะพิเศษรับรองความเป็นนิติบุคคลของหน่วยงานของหรือเอกชนนั้น ๆ
3.เกณฑ์การพิจารณาการให้การสนับสนุน
3.1 เกณฑ์ทั่วไป
     3.1.1 ต้องจัดการประชุมวิชาการอย่างน้อย 1 วันเต็ม
     3.1.2 ต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ไม่รวมวิทยากร อย่างน้อย 50 คนขึ้นไป
     3.1.3 หากมีผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ ต้องมีจำนวนไม่เกิน 40 คน (นับรวมกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมข้อ 3.1.2)
3.2 ประเภทงาน
     3.2.1 งานประชุมที่เป็นการพัฒนาภูมิภาคให้มุ่งเน้นความเป็นเลิศ หรือที่มีศักยภาพในการทำให้เมือง หรือประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลาง (Hub) หรือศูนย์ความเป็นเลิศ (Excellence Center) เฉพาะด้านนั้นๆ
              3.2.1.1 ต้องเป็นการประชุมวิชาการภายในประเทศ
              3.2.1.2 เป็นการประชุมในสาขาวิชา หรือยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง (ทั้งในระดับชาติ กลุ่มจังหวัด ภาค หรือมหาวิทยาลัย) หรืออุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล
     3.2.2 งานประชุมที่พร้อมยกระดับงานประชุมให้มีศักยภาพในการรองรับงานประชุมระดับนานาชาติ (พิจารณาจากจำนวนเครือข่ายระดับภาค ระดับชาติ หรือระดับภูมิภาค ที่เข้าร่วมประชุม และมีบันทึกผลรายงานของปีที่ผ่านมา)
              3.2.2.1 มีแผนขยายเครือข่าย หรือเชื่อมโยงเครือข่ายข้ามภาค  และมีเป้าหมายมุ่งสู่งานระดับนานาชาติ
              3.2.2.2 มีการบันทึกสถิติอัตราการเติบโตของผู้เข้าประชุม และเน้นสร้างการเติบโตของผู้เข้าประชุมนานาชาติให้เพิ่มขึ้นปีละ 10% (YOY) อย่างต่อเนื่อง 3 ปี
3.3 การสนับสนุน
     3.3.1 การสนับสนุนที่เป็นงบประมาณสนับสนุนจะพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานประชุม
               3.3.1.1 ผู้เข้าร่วมประชุม 50-300 คน ให้การสนับสนุน 50,000 บาท
               3.3.1.2 ผู้เข้าร่วมประชุม 301-300 คนขึ้นไป ให้การสนับสนุน 100,000 บาท
     3.3.2 การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อการจัดงานแบบไฮบริด
              กรณีที่ผู้จัดงาน จัดงานประชุมวิชาการในรูปแบบไฮบริด จะต้องมีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมในสถานที่ไม่น้อยกว่า 50 คน และมีการลงทะเบียนสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ด้วยระบบที่มีมาตรฐาน จะได้รับสนับสนุนเพิ่มเติม 100,000 บาท/งาน
      3.3.3 การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่องานที่สามารถสร้างเครือข่ายในอนาคต
               กรณีที่ผู้จัดงาน จัดงานประชุมวิชาการโดยผู้มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 3 ชาติขึ้นไป จำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน จะได้รับสนับสนุนเพิ่มเติม 30,000 บาท/งาน
       3.3.4 การสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อการจัดงานแบบปลอดภัยและยั่งยืน
                กรณีที่ผู้จัดงานนำแนวปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับการจัดงานอย่างยั่งยืน(ดังเอกสารแนบท้าย)  อย่างน้อย 3 ข้อ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม 20,000 บาท/งาน
3.4 การสนับสนุนที่มิใช่งบประมาณสนับสนุน เช่น
      3.4.1 การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม (Event audit)
      3.4.2 บริการอำนวยความสะดวกที่สนามบิน (MICE Lane)
      3.4.3 การประชาสัมพันธ์ในช่องทางของ สสปน. เช่น Thai MICE Connect Event Calendar, Website, และสื่ออื่นๆ
      3.4.4 ระบบลงทะเบียนด้วยแอพพลิเคชั่น BizConnect
      3.4.5 การสนับสนุนในรูปแบบอื่นที่เกี่ยงข้องและเหมาะสม เช่น การอำนวยความสะดวกต่างๆ การติดต่อประสานงานกับพื้นที่เจ้าภาพ การเรียนเชิญผู้บริหารมากล่าวต้อนรับ ฯลฯ 
3.5 สิ่งที่ต้องดำเนินการ
      3.5.1. ผู้มีสิทธ์ขอรับการสนับสนุนต้องติดต่อขอรับการสนับสนุนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการวันจัดประชุม
      3.5.2. แผนการดำเนินงาน และเอกสารประกอบ
                3.5.2.1 งานประชุมที่เน้นความเป็นเลิศ ต้องมีเอกสารที่ประกอบไปด้วย นโยบาย และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
                3.5.2.2 งานประชุมที่เน้นยกระดับงานประชุม ต้องมีเอกสารที่ประกอบไปด้วย รายชื่อเครือข่าย สมาคมหรือมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง และสถิติจำนวนผู้เข้าร่วมพร้อมอัตราการเติบโตของผู้เข้าประชุมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
4.เอกสารประกอบการขอรับการสนับสนุน
4.1 หนังสือขอรับสนับสนุนตามแบบที่ สสปน. กำหนด พร้อมระบุสิทธิประโยชน์ที่ สสปน. จะได้รับ
4.2 รายละเอียดโครงการ กำหนดการจัดงาน และประมาณการค่าใช้จ่าย
4.3 Check list รูปแบบการจัดงานแบบยั่งยืน
4.4 หนังสือรับรองบริษัท/หนังสือจัดตั้งหน่วยงาน และใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ. 20) ของผู้ขอรับการสนับสนุน
5.เอกสารประกอบการเบิกเงินสนับสนุน
5.1 ใบแจ้งหนี้ (Invoice) หรือหนังสือขอเบิกเงินสนับสนุน
5.2 สำเนาหนังสือตอบรับสนับสนุน
5.3 รูปเล่มรายงานผลสำเร็จการจัดงานที่ประกอบไปด้วยภาพถ่ายภายในการประชุมสัมมนา และผลสำรวจความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการประชุมสัมมนา
5.4 หลักฐานสรุปสิทธิประโยชน์ที่ สสปน. ได้รับ
5.5 สำเนาใบรายชื่อผู้เข้าร่วมงาน หรือรายชื่อผู้เข้าร่วมงานที่จัดทำโดยระบบลงทะเบียนออนไลน์ (รับรองสำเนาถูกต้อง)
6.เงื่อนไขและข้อกำหนด
6.1 หากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดงาน เลื่อนวันจัดงาน หรือเปลี่ยนสถานที่จัดงาน หลังจากที่ สสปน. ได้ทำหนังสือตอบรับไปแล้ว ให้ผู้ขอรับการสนับสนุนรีบดำเนินการส่งหนังสือแจ้งแก่ สสปน. รับทราบอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดก่อนวันจัดงาน
6.2 การเบิกเงินสนับสนุนต้องดำเนินการภายใน 60 วันทำการ หลังจากเสร็จสิ้นการจัดงาน หากพ้นกำหนด ถือว่าสละสิทธิ์การขอรับเงินสนับสนุน (หากมีเหตุสุดวิสัยให้ทำเป็นหนังสือแจ้งให้ สสปน. รับทราบก่อนถึงระยะเวลา 60 วัน) โดยผู้ขอรับการสนับสนุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการขอรับเงินสนับสนุนตามที่ระบุไว้ในหนังสือตอบรับการสนับสนุนของ สสปน. อย่างครบถ้วน
7.ข้อสงวนสิทธิ์
7.1 การสนับสนุนในรูปแบบงบประมาณจะเบิกจ่ายให้แก่ผู้ขอรับการสนับสนุนเท่านั้น โดยผู้ขอรับการสนับสนุนต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมด (ถ้ามี)
7.2 สสปน. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและข้อกำหนดตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
7.3 ขอสงวนสิทธิ์จำกัดการให้การสนับสนุนในแต่ละปีตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
7.4 การสนับสนุนอื่นใดที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ให้อยู่ในการพิจารณาของ ผู้อำนวยการ สสปน. เป็นผู้อนุมัติตามระเบียบ สสปน. ว่าด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ
7.5 ในกรณีที่ สสปน. มีความประสงค์จะเก็บข้อมูลสถิตินักเดินทางในประเทศ หรือ Satisfaction Survey
 
ผู้ขอรับสนับสนุนจะต้องอำนวยความสะดวกให้ทีมงานในการจัดเก็บข้อมูลหมายเหตุ :
    • *** MICE Lane Service คือ บริการช่องทางพิเศษสำหรับวิทยากรชาวต่างชาติที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะต้องติดต่อขอรับบริการล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วันก่อนวันเดินทาง
    • ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาให้การสนับสนุนแต่ละประเภท ตามความเหมาะสม